“บริการสาธารณะ: ทางเลือกของประชาชน
(Public Service: People’s Choices)”

โครงการประชุมวิชาการระดับชาติด้านการบริหารกิจการสาธารณะของประเทศไทย (Public Affairs Management)
วันที่ 9-10 พฤษภาคม 2556 ณ วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น

 

หลักการและเหตุผล

       ในอดีตข้อโต้แย้งต่าง ๆ มักจะเกิดขึ้นในประเด็นที่ว่า ภาครัฐหรือภาคเอกชนเป็นผู้ขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ ซึ่งเป็นการวิพากย์ ระหว่าง Public Administration หรือ Business แต่ที่ผ่านมาก็สามารถที่จะทำให้ข้อสรุปว่า ทั้ง 2 ภาคส่วนต่างก็เคยประสบปัญหาทั้งสิ้น ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ.2540 หรือวิกฤติการณ์ที่ทำให้จำเป็นจะต้องปฏิรูประบบราชการซึ่งนำมาสู่การบูรณาการ และเสริมประสานในลักษณะที่เรียกว่า Transcription ที่ก่อให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า Public Affair ที่ไม่ได้หมายความถึงภาครัฐหรือภาคเอกชน แต่เป็นภารกิจที่ทุกคน ทุกภาคส่วนจะต้องดำเนินการร่วมกัน อย่างภาคีหุ้นส่วนเพื่อให้บริการสาธารณะแก่คนทุกคน มีผลกระทบกับทุกคน ดังนั้นการประชุมวิชาการในครั้งนี้จึงมุ่งที่จะเปิดพื้นที่ให้เกิดการบูรณาการระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เพื่อสร้างทางเลือกให้กับประชาชนอย่างมีคุณภาพและเท่าเทียมกัน
ด้วยความสำคัญดังกล่าว วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงได้สนับสนุนให้มีการจัดเวทีประชุมทางวิชาการด้านการปกครองท้องถิ่นและการบริหารกิจการสาธารณะเพื่อเสนอผลงานและนวัตกรรมนั้น นอกจากจะเป็นการเผยแพร่องค์ความรู้ที่เกิดจากการวิจัยแล้วยังเปิดโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ระหว่างนักศึกษา คณาจารย์ และนักวิชาการ ทำให้เกิดการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานวิทยานิพนธ์และการศึกษาอิสระให้สอดคล้องกับเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับอุดมศึกษา พ.ศ. 2548 ของสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) กระทรวงศึกษาธิการ สามารถนำมาเป็นส่วนหนึ่งของเกณฑ์สำเร็จการศึกษาได้ สำหรับการจัดประชุมวิชาการการเสนอผลงานวิจัยในครั้งนี้ วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น ยังได้สนับสนุนให้นักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาได้มานำเสนอผลงานวิจัยที่เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาอิสระอีกด้วย ถือเป็นการพัฒนาคุณภาพงานวิจัยระดับบัณฑิตศึกษาครอบคลุมทั้งวิทยานิพนธ์และการศึกษาอิสระ ซึ่งเป็นกลไกหนึ่งในการพัฒนามหาวิทยาลัยสู่การเป็นมหาวิทยาลัยแห่งการวิจัยอีกทางหนึ่ง

 

วัตถุประสงค์

1. เพื่อให้นักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาและนักวิชาการได้เผยแพร่ผลงานวิชาการที่เป็นประโยชน์สู่สาธารณะ
2. เพื่อเปิดโอกาสให้มีการเสวนา แลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์เกี่ยวกับผลการวิจัยระหว่าง นักศึกษา คณาจารย์ และนักวิชาการ ทั้งในสถาบันเดียวกันและต่างสถาบันอันจะนำไปสู่การพัฒนานวัตกรรมการบริหารการพัฒนาท้องถิ่นที่เป็นรูปธรรม
 

หน่วยงานรับผิดชอบ

  • วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น
  • สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ
  • มูลนิธิส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น
  • กองบัญชาการศึกษา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

     

ผู้เข้าร่วมประชุม

ผู้เข้าร่วมประชุม จำนวนประมาณ 500 คน ประกอบด้วย ผู้เข้าร่วมประชุมและนำเสนอผลงานวิจัย เป็นนักวิชาการ/นักวิจัย หรือ นักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา หรือผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น และสถาบันอุดมศึกษาอื่น ๆ ทั้งของรัฐและเอกชนภายในประเทศ

 

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

  1.  ผลงานวิจัยได้เผยแพร่สู่สาธารณะ และสามารถนำไปสู่การพัฒนาสังคมและประเทศชาติได้
  2. นักวิชาการ นักวิจัย และนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาได้รับความรู้ทั้งในแง่ผลการวิจัยและการปฏิบัติที่ประสบความสำเร็จด้านการปกครองและการบริหารการพัฒนาท้องถิ่น
  3. เกิดการพัฒนานวัตกรรมและศาสตร์แห่งการบริหารการพัฒนาท้องถิ่นที่สะท้อนสภาพความเป็นจริงและตรงกับความต้องการของผู้ใช้ประโยชน์
  4. เกิดทุนทางสังคมที่พัฒนามาจากการเชื่อมโยงเครือข่ายซึ่งเป็นแหล่งข้อมูลองค์ความรู้และทรัพยากรที่สำคัญสำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องในทุกภาคส่วนของการพัฒนาระดับท้องถิ่น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาระดับชาติและระดับภูมิภาค